ฝึกฝนตัวเองอย่างไรให้เป็น Graphic Designer ระดับมืออาชีพ?

วันนี้อยากจะมาแชร์ประสบการณ์บนเส้นทางการเป็น Designer ว่าการจะไปสู่ระดับมืออาชีพนั้น เราควรเรียนรู้ และฝึกฝนอะไรบ้าง เพราะมักจะมีรุ่นน้อง เพื่อนที่ทำงาน หรือใครก็แล้วแต่มาถาม ซึ่งผมก็มักจะตอบสิ่งเหล่านี้ไปเสมอ เลยคิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ถ้าผมได้เขียนออกมา

blog_designexp1

อยากเก่งต้องช่างสังเกต

เพราะงานออกแบบต้องใช้ตาดู การดู การสังเกต และจดจำ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด Designer ที่เก่ง ต้องแยกออกว่าอะไรสวย อะไรไม่สวย อะไรเหมาะสม อะไรไม่เหมาะสม ดังนั้นควรจะฝึกด้วยการเสพงานออกแบบดีๆ ตามยุคสมัย ให้มากเท่าที่จะมากได้ มีเวลาว่างก็นั่งดู นั่งสังเกตเก็บรายละเอียดไป พยายามคิดลึกลงไปว่า ทำไมเขาถึงเลือกทำแบบนี้ จนเราเริ่มมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับคนที่มีคุณภาพ นอกจากการดูงานออกแบบ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรฝึกสังเกตก็คือธรรมชาติรอบๆ ตัว เช่นแสงสี เงา พื้นผิว รูปทรง และอื่นๆ เพื่อเข้าใจความเป็นธรรมชาติ และนำมาใช้ในงานออกแบบ

ทีนี้พอเวลานั่งทำงานของตัวเอง ได้ดูงานของตัวเอง จะมองออกทันทีว่างานของเรานั้นดีพอหรือยัง ขาดเกินอะไร แสงเงาดูเป็นธรรมชาติหรือไม่  เพราะเราฝึกการมอง การสังเกต จนเกิดเป็นภาพจำในหัวแล้วนั่นเอง

 

blog_designexp3

ใส่ใจรายละเอียด และความเป็นระเบียบ

ทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ ตั้งแต่การจัดระเบียบเลเยอร์ การตั้งชื่อเลเยอร์ การตั้งชื่อไฟล์ การเก็บไฟล์ในโฟลเดอร์ การจัดโฟลเดอร์บนเดสท็อป แม้แต่ความเป็นระเบียบของโต๊ะทำงาน เชื่อไหมว่าทุกอย่างที่บอกไปนั้น เป็นสิ่งที่จะบอกได้กรายๆ ว่างานออกแบบของคนคนนั้นมีความใส่ใจ และมีคุณภาพแค่ไหน เพราะการออกแบบนั้นเป็นเรื่องของการจัดวาง จัดระเบียบ วาง Grid วาง Guide หากได้เสพงานออกแบบดีๆ จะเห็นได้ชัดเลยว่ามันช่างดูเนี๊ยบ ดูพิถีพิถันจนไร้ที่ติ นั่นคือทุกๆ จุดเกิดจากการใส่ใจในรายละเอียด

บ่อยๆ ที่เห็นไฟล์งาน PSD ที่เลเยอร์มั่วมาก ชื่อก็ไม่ได้ตั้ง คือมีเป็นร้อยก็กองไว้อย่างนั้น สุดท้ายเวลาขอแก้ ก็เป็นเรื่องลำบาก และเสียเวลา ตรงนี้มันก็จะสะท้อนไปถึงงานออกแบบที่ทำออกมาเช่นกัน พยายามฝึกให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบ มันฝึกให้เรากลายเป็นคนใส่ใจ และจะส่งผลให้งานมีคุณภาพมากขึ้นแน่นอน

 

blog_designexp4

อย่าละเลยทฤษฎีพื้นฐาน

เชื่อว่า Designer หลายคนมักจะหลงลืม หรือมองข้ามทฤษฎีพื้นฐานของการออกแบบ จนบางครั้งงานที่ทำออกมาดูไม่ลงตัว จริงๆ แล้วไม่ได้อยากให้ยึดทฤษฎีพื้นฐานจนไม่กล้าฉีกแนว แต่ก่อนจะฉีกไปทางอื่น เราควรรู้ลึกรู้จริงเรื่องของทฤษฎีพื้นฐานเสียก่อน แล้วค่อยนำไปต่อยอดเป็นแบบของตัวเอง สำหรับผมมองว่างานออกแบบ Graphic ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ เว็บไซต์ แอพฯ หรืออะไรก็แล้วแต่ จะประกอบไปด้วยทฤษฎีพื้นฐานหลักๆ 3 อย่าง ที่เรียกได้ว่าถ้าแน่นใน 3 ทั้งอย่างนี้ รับรองว่าชีวิตเปลี่ยนแน่นอน

Composition (การจัดวางองค์ประกอบ)  นี่คือหัวใจของงานออกแบบเลย การจัดวางองค์ประกอบนี้ รวมถึงการใช้พื้นที่ ขนาด จุดเด่นของงาน และความสมดุล ที่เมื่อรวมกันแล้วออกมาเหมาะสม พื้นฐานข้อนี้แค่เป็นการนำส่วนประกอบของงานเช่น รูป ตัวหนังสือ ไอค่อน เนื้อหา มาเรียงลำดับให้ลงตัว และตอบโจทย์ อาจฟังดูเหมือนเป็นข้อที่ง่ายที่สุด แต่สำหรับผมมันคือยากที่สุด และสำคัญที่สุดของงานออกแบบ เพราะไม่ว่าคุณจะมีรูปสวยแค่ไหน ทำไอค่อนไว้สวยแค่ไหนก็ตาม หากนำมาจัดวางองค์ประกอบไม่ดี งานทั้งหมดก็คือพัง

Color (สี)  สีเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ความหมาย ให้ความรู้สึกต่องานออกแบบ และสีเป็นสิ่งแรกที่จะเตะตาคน การเลือกใช้สีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งต้องเลือกให้เหมาะสมกับงานที่ทำ เช่นการเลือกสีโทนร้อนกับงานประเภทอาหาร จะช่วยให้คนรู้สึกน่ากินมากขึ้น และการใช้สีสำหรับการเน้นส่วนสำคัญ เลือกคู่สีที่ไม่ทำให้ดูกลืน ดูจม ซึ่งทฤษฎีสีนั้นมีให้ศึกษาได้ไม่จบไม่สิ้น และควรศึกษาพื้นฐานไว้ให้แน่น

Typography (ตัวหนังสือ)  งานออกแบบนั้นจะหนีไม่พ้นเรื่องการวางตัวหนังสือ การเลือกใช้ฟ้อนท์ สี ความเด่น ความง่ายต่อการอ่าน เมื่องานออกแบบของเราเรียกคนให้หันมามองได้แล้ว สิ่งต่อไปคือเขาจะอ่านสิ่งที่เราอยากนำเสนอได้ง่าย และชัดเจนแค่ไหน นั่นคือเรื่องของ Typography หลายคนทำงานสวยงานดี แต่มาตายตรง Typography ก็มีให้เห็นมากมาย

ดังนั้นหากมีเวลา ก็ควรลองศึกษาทบทวนทฤษฎีพื้นฐานเหล่านี้เอาไว้ นอกจากนี้ต้องศึกษาเทรนด์งานออกแบบตามยุคสมัยไปด้วย

 

blog_designexp2

อย่าลืมลงมือทำ

หลังจากฝึกดู สังเกต และจดจำ ก็ต้องลงมือทำ อยากลองทำอะไรก็เริ่มทำเลยโดยที่ไม่ต้องมีใครมาจ้างมาบอก เพราะงานจ้าง งานประจำ มักจะเป็นงานที่ถูกเปลี่ยนแปลง บิดเบือนไปจากสิ่งที่เป็นตัวเราเสมอ ดังนั้นหากมีเวลาว่างก็ให้ลองฝึกออกแบบไอ้นั่นไอ้นี่ดู เลือกเอาสิ่งที่ชอบที่สนใจ เราจะมีพลังในการทำมากขึ้น โดยอาจจะตั้งเป้าว่าใน 1 วันจะออกแบบงาน 1 ชิ้น โดยอาจจะเป็นแค่ Mock up สวยๆ หรือจะดัดแปลงจากสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น จะได้ทำอะไรได้หลากหลาย เมื่อยิ่งได้ทำบ่อย เราก็จะยิ่งเก่ง ยิ่งเร็ว ยิ่งมีประสบการณ์ แถมยังมีผลงานหลากหลายเก็บไว้เป็น Portfolio อีกต่างหาก

 

สร้างตัวตนให้คนรู้จัก

หากเราทำงานมาถึงจุดหนึ่งที่มีผลงานดีๆ เป็นที่พอใจของตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมที่จะเปิดเผยให้คนอื่นได้เห็นว่าตัวเราทำอะไรได้บ้าง อาจจะสร้างเว็บไซต์ส่วนตัว หรือโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คก็เป็นอะไรที่สะดวกสบายในการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง วันหนึ่งคนที่เห็น และชอบสไตล์งานของเราเขาก็จะเข้ามาหาเรา